วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Learning Log 3

Learning Log 3

-Thursday 22nd August 2019-

วันนี้อาจารย์ได้สอนในบทที่ 2
หลักเบื้องต้นในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
โดยมีเนื้อหา ดังนี้ 
🔅 คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชา🔅
Educational Networking   การสร้างเครือข่ายทางการศึกษา
Understanding  การสร้างความเข้าใจ
Behavior change  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
Parental Involvement  การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
Role of parent  บทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง
Parent education model  รูปแบบการให้ความรู้ผู้ปกครอง
Formal education   การให้ความรู้แบบเป็นทางการ
Informal education   การให้ความรู้แบบไม่เป็นทางการ

 ✨ การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง เด็กปฐมวัยถือเป็นนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบัน การให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจะช่วยทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้เรียนรู้และเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการพัฒนาเด็ก ทำให้ดำเนินงานทางการศึกษาระหว่างบ้านกับโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอน อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 ✨ความหมายของการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง
🔎 Linda  Bierstecker, 1992  กล่าวว่า การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง (parenteducation) หมายถึง การให้ผู้ปกครองได้เข้าใจว่าเด็กได้ทำกิจกรรมอะไรที่โรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจวิธีการที่จะช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้
🔎 ฉันทนา  ภาคบงกช (2531)  กล่าวว่า การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง หมายถึง การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา เป็นการทำความเข้าใจและสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดู ตลอดจนบทบาทหน้าที่ในการร่วมมือกันพัฒนาเด็กโดยใช้สื่อต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ผู้ปกครองในประเด็กสำคัญ ดังนี้
1. เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติและความต้องการของเด็ก โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ และทฤษฏีเกี่ยวกับจิตวิทยาของเด็ก
2. เพื่อให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ แก่เด็กได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับทางโรงเรียน
🔎 วาโร  เพ็งสวัสดิ์ (2544) ได้ให้ความหมายของการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองว่า หมายถึง การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เป็นการสร้างความเข้าใจ สร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ตลอดจนมีบทบาทหน้าที่ในการใช้สื่อต่าง ๆ เพื่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
🔎 ธีรภัทร์ เจริญดี (2542) ได้ให้ความหมายของการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองว่า หมายถึง การจัดการศึกษาที่จะช่วยให้ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเด็ก วิธีการอบรมเลี้ยงดู แนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ตลอดจนการดำเนินชีวิตครอบครัว ในวิถีทางที่ถูกต้องและเหมาะสม 
🔎 กุลยา  ตันติผลาชีวะ (2544) กล่าวว่า การศึกษาสำหรับผู้ปกครอง หมายถึง การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเลี้ยงดูเด็กให้ถูกต้องและมีพัฒนาการที่ดี วิธีการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองนี้มีหลายวิธีทั้งทางตรงและทางอ้อม การจัดการศึกษาอาจกำหนดเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองกลุ่มเป้าหมายการศึกษาสำหรับผู้ปกครองเป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบที่จะสร้างให้ผู้ปกครองมีความรู้ของการเป็นผู้ปกครองและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับโรงเรียนในการที่จะพัฒนาเด็กให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปอย่างเต็มศักยภาพ
🔎 สรุปได้ว่า การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง หมายถึง การให้ความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เพราะเด็กอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันครอบครัว การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถือเป็นกระบวนการทางสังคม ซึ่งสังคมมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลภายในสังคมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสังคม ทั้งในและนอกระบบ การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองจึงเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นพ่อแม่ให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการในการดูแล อบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่เด็ก เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า เพื่อการพัฒนาตนต่อไปในอนาคต

 ✨ ความสำคัญของการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง
🔎 Verna, 1972  กล่าวว่า การให้ความรู้ผู้ปกครอง จะช่วยให้ผู้ปกครองเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งกันและกัน อันจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งต่อกัน ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กเกิดความสับสน
🔎 Galen,  1991  กล่าวว่า การให้ความรู้ผู้ปกครอง จะช่วยให้ผู้ปกครองได้รับข้อมูลที่ดีในการเลี้ยงดู และการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จได้
อรุณี  หรดาล (2536)  กล่าวว่า การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยมีความสำคัญดังนี้
1. ช่วยให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก
2. ช่วยให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการอบรมเลี้ยงดู
3. ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงผลของการกระทำของตนเองที่จะมีต่อเด็กอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง
4. ช่วยให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย
5. ช่วยให้ผู้ปกครองมีความรู้และฝึกทักษะ เทคนิคและวิธีการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
6. ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการจัดการศึกษาปฐมวัย และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและผู้ปกครอง ซึ่งจะมีผลดีต่อตัวเด็กโดยตรง
🔎 การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่มีต่อการศึกษาเด็กปฐมวัย สรุปได้ดังนี้
1. เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก
2. เป็นการให้ผู้ปกครองได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อการศึกษาของเด็ก
3. ทำให้ลดความขัดแย้งในการดำเนินงานทางการศึกษา ช่วยให้การศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
4. เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาของเด็ก
5. ช่วยทำให้สถาบันครอบครัวมีความแข็งแรง

 ✨ วัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง
🔎  Linda  Bierstecker, 1992  ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองไว้ ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจวิธีดูแลเด็กและการจัดกิจกรรมของโรงเรียน
2. เพื่อให้ผู้ปกครองและครูประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเด็กร่วมกัน
3. เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงความต้องการของเด็กและสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กที่บ้านได้อย่างถูก
🔎  กุลยา ตันติผลาชีวะ (2542) ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองว่า มีดังต่อไปนี้
1. สร้างเสริมความรู้ของผู้ปกครองเกี่ยวกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก
2. สร้างเสริมความเข้าใจในบทบาทของผู้ปกครอง และอิทธิพลของครอบครัวที่มีต่อเด็ก
3. สร้างเจตคติที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูเด็ก
4. สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองในการดูแลเด็ก
5. สร้างความร่วมมือในการพัฒนาเด็ก
🔎 การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองโดยสรุปมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการในการอบรมเลี้ยงดูเด็กและให้การศึกษาแก่เด็ก
2. เพื่อให้ความรู้และวิธีการในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็ก
3. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการศึกษาของเด็กที่โรงเรียนเพื่อให้ที่บ้านเข้าใจตรงกัน
4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการมีส่วนร่วมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่บุตรหลาน
5. เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้และเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลาน

 รูปแบบในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
🔎 พัชรี  สวนแก้ว (2536) ได้อธิบายรูปแบบการติดต่อระหว่างผู้ปกครองกับครูทำสองทาง คือ จากบ้านถึงโรงเรียนและจากโรงเรียนถึงบ้าน ซึ่งวิธีการที่ครูและผู้ปกครองจะติดต่อกันอาจทำได้ ดังนี้
1. การเยี่ยมเยียนโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งตอนเช้าเวลาที่ผู้ปกครองมาส่งเด็กและพบครูโดยบังเอิญอาจทำให้ครูทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กด้วย
2. การที่ครูไปเยี่ยมบ้านเด็กและผู้ปกครอง เพื่อเปิดโอกาสให้ครูทราบสภาพครอบครัว สร้างความคุ้นเคยกับผู้ปกครองและเด็ก
3. การที่ผู้ปกครองมาเยี่ยมโรงเรียน ซึ่งควรทำตอนที่นำเด็กมาฝากใหม่ ๆ เพราะเด็กยังไม่คุ้นเคยกับโรงเรียน
4. การจัดให้มีการอภิปรายกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
5. การเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน
6. การสนทนาทางโทรศัพท์ เพราะการปรึกษาทางโทรศัพท์สามารถชดเชยการเยี่ยมเยียนได้
🔎 การจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา การให้ความรู้ผู้ปกครอง จึงมีความสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินงาน เพื่อจัดรูปแบบในการให้ความรู้เพื่อเข้าถึงเป้าหมาย รูปแบบการให้ความรู้ผู้ปกครองสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการดังนี้
- การให้ความรู้แบบทางการ (formal)  เช่น การบรรยาย  การอภิปราย การโต้วาที ฯลฯ
- การให้ความรู้แบบไม่เป็นทางการ (informal) เช่น การระดมสมอง การประชุมโต๊ะกลม การประชุมกลุ่มย่อย
🔎 กุลยา  ตันติผลาชีวะ (2542)  ได้แบ่งรูปแบบการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองแบบผสมผสานเพื่อให้เหมาะสมกับสังคมไทยเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. ระดับห้องเรียน
2. ระดับโรงเรียน
3. ระดับชุมชน
4. ระดับมวลชน
🔎 อรุณี  หรดาล (2536)  ได้เสนอรูปแบบการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองที่เหมาะสมกับสังคมไทย ควรมีลักษณะผสมผสานระหว่างรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาความรู้ และขนาดของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีอยู่ 5 ลักษณะ ดังนี้
1.  เป็นรายบุคคล  การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเป็นรายบุคคล ส่วนมากจะจัดแบบไม่เป็นทางการ เช่น การเยี่ยมบ้าน การสนทนาซักถาม ฯลฯ
2. กลุ่มขนาดเล็ก รูปแบบการให้ความรู้ในกลุ่มเล็ก ส่วนมากจะจัดแบบไม่เป็นทางการ เช่น การพบปะสนทนา การประชุมกลุ่มย่อย การประชุมโต๊ะกลม การระดมสมอง ฯลฯ 
3. กลุ่มขนาดใหญ่ อาจจัดได้หลายรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การบรรยาย การอภิปราย การประชุมเชิงปฏิบัติการ
4. ระดับชุมชน เช่น การบรรยาย การปาฐกถาหมู่ การโต้วาที การอภิปรายกลุ่ม การสนทนา ฯลฯ
5. ระดับมวลชน เช่น วิทยุ เทปเสียง วีดีทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์
🔎 จากรูปแบบดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปออกเป็นลักษณะของฐานการเรียนรู้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1. การใช้บ้านเป็นฐานในการเรียนรู้ (home base) เป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับผู้ปกครองถึงที่บ้าน เช่น การเยี่ยมบ้าน การส่งจดหมาย เอกสารถึงบ้าน การจัดทำโฮมสคูล (Home School)
2. การใช้โรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ (school base) เป็นการจัดกิจกรรมความรู้ให้ผู้ปกครองที่โรงเรียน เช่น การจัดแสดงผลงานเด็ก การประชุม การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดมุมผู้ปกครอง
3. การใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ (community vase) เป็นการเผยแพร่ความรู้ผ่านชุมชน เช่น หมู่บ้าน วัด โบสถ์ มัสยิด วิทยุ โทรทัศน์ ระบบอินเตอร์เน็ต วารสาร นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมที่จัดโดยผ่านชุมชนประเภทต่างๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจที่สอดคล้องกับสภาพทางครอบครัว สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง นับเป็นแนวทางให้ความรู้ที่เหมาะสมกับผู้ปกครองในสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น
🔎 สรุปได้ว่า รูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมี 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การมีส่วนร่วมที่บ้านในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กทุก ๆ ด้าน และการมีส่วนร่วมในสถานศึกษา เช่น การเข้าร่วมประชุมร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการปรึกษา เยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน การมีส่วนร่วมในการทำงาน เสนอแนวคิดและร่วมตัดสินใจทางการศึกษา

แนวทางการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
🔎 ฉันทนา  ภาคบงกช (2531) ได้เสนอแนวทางในการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองไว้ดังนี้
1. สำรวจความสนใจ ความต้องการ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยการสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถาม
2. จัดบริการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ปกครอง เช่น   
   - เชิญวิทยากรมาบรรยาย  อภิปราย สาธิต
   - จัดห้องสมุดและศูนย์ของเล่นสำหรับเด็ก
   - จัดศูนย์แนะแนวผู้ปกครองเพื่อให้คำแนะนำ
   - จัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ปกครอง
🔎 กุลยา  ตันติผลาชีวะ (2542) ได้กล่าวถึง แนวทางการจัดกิจกรรมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมไว้ ดังนี้
1. กิจกรรมโรงเรียน ได้แก่ กิจกรรมที่เน้นให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม โดยทางโรงเรียนเป็นฐานในการจัดกิจกรรม เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแนะนำโรงเรียน กิจกรรมการฝึกอบรม กิจกรรมการแสดงของนักเรียน กิจกรรมอื่นๆ ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
2. กิจกรรมสานสัมพันธ์ เป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์และความคุ้นเคยกันในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสนทนา การเยี่ยมเยียน เช่น การประชุมปรึกษาเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน พร้อม ๆ กับการแลกเปลี่ยนความรู้กัน การแก้ปัญหาร่วมกัน 
การเยี่ยมบ้าน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียน การเยี่ยมบ้านจะไม่ทำบ่อยนัก อาจเป็นภาคเรียนละ 1 ครั้ง ตามความเหมาะสม
3. กิจกรรมการสื่อสารสนเทศ กิจกรรมนี้จะเน้นให้ผู้ปกครองเป็นผู้รับข้อมูลเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น โทรศัพท์สายด่วน จดหมายข่าว โฮมเพจ แผ่นพับของทางโรงเรียน
4. กิจกรรมการศึกษา เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียน การสอน เป็นกิจกรรมที่ผู้ปกครองเข้าถึงชั้นเรียน ทั้งเป็นผู้สอน เป็นผู้ช่วยครูตลอดถึงเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้ปกครองด้วยกัน
5. กิจกรรมบริการ เป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นเพื่อเป็นการบริการแก่สังคมและครอบครัว ได้แก่ ห้องสมุดของเล่น ศูนย์ดูและเด็ก ศูนย์แลกเปลี่ยนสิ่งของที่ผู้ปกครองเหลือใช้
6. กิจกรรมการตัดสินใจ เป็นกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองระดับสูง ที่ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนในการตัดสินใจ และวินิจฉัยสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม คือ การวางนโยบายโรงเรียน การสรรหาบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาการเรียนการสอน และการพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น
 🔎 Linda  Bierstecker, 1992 ได้เสนอแนวทางในการเตรียมการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองไว้ดังนี้
การวางแผน
- กำหนดวัตถุประสงค์
- จัดเตรียมการประชุม
- จัดทำกำหนดการประชุม
ดำเนินการประชุม
ประเมินผลการประชุม
- การบรรลุวัตถุประสงค์
- ความพร้อมของการประชุม
- หัวข้อการประชุม
- ขั้นตอนการประชุม
            ฯลฯ
การออกจดหมายข่าวผลประชุม
🔎 การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย
🔎 สรุปแนวทางการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
       หลักการและแนวทางในการจัดกิจกรรมให้ความรู้ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมนั้น อยู่บนพื้นฐานความคิดของการสร้างความสัมพันธ์อันดี กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพสังคม ครอบครัว เจตคติและความเชื่อของผู้ปกครอง โดยอาจจัดหลายกิจกรรมประกอบกัน ทั้งนี้ทางโรงเรียนต้องชี้แจงให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมและจักกิจกรรมให้ตรงตามความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านความสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมและยึดผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ

✨ บทบาทของผู้ปกครองในการร่วมกิจกรรมการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง
🔎 วราภรณ์  รักวิจัย (2533) กล่าวว่า บทบาทของผู้ปกครองมี ดังนี้
1. ให้การอบรมเลี้ยงดูและปัจจัย 4
2. ให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ฝึกอบรมเด็กให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
4. ถ่ายทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนบทบาทหน้าที่ในครอบครัวให้แก่เด็ก
5. ช่วยแก้ปัญหาและอบรมสร้างวินัยอันดีให้แก่เด็ก
6. จัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทุก ๆ ด้าน
7. เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก
8. เสริมสร้างบุคลิกภาพและการสร้างสรรค์
9. ปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็ก
🔎 อรุณี  หรดาล (2536)  ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้ปกครองไว้ ดังนี้
🔎 สรุปบทบาทของผู้ปกครองในการร่วมกิจกรรมการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง
       ผู้ปกครองจะต้องรู้บทบาทและหน้าที่ของตน ทั้งในฐานะผู้อบรมเลี้ยงดูเด็ก ให้การศึกษา และส่งเสริมพัฒนาการโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาในลักษณะต่าง ๆ  ที่เหมาะสมกับบริบทของตน บทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองจึงควรมีบทบาทในฐานะผู้ร่วมกิจกรรม    ในสถานศึกษา บทบาทในฐานะเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่เด็กทั้งที่บ้านและโรงเรียน และบทบาทในฐานะผู้ช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียน เพื่อการพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

✨ แนวปฏิบัติของสถานศึกษา
ในการจัดกิจกรรมการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง สถานศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ปกครองได้ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ ดังนั้นสถานศึกษาควรมีแนวปฏิบัติดังนี้
1. รับฟังความคิดเห็นและความรู้สึกที่ผู้ปกครองมีกับลูก
2. ขณะที่พูดคุยกับผู้ปกครองเด็ก ไม่ใช้เป็นการพูดถึงเด็กในทางที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ควรพูดถึงในสิ่งที่ดีที่เด็กสามารถพัฒนาขึ้นมาก
3. ควรหลีกเลี่ยงคำอธิบายหรือใช้คำศัพท์ทางวิชาการในการอธิบายพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง

        ผู้ปกครองถือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อความเจริญเติบโต พัฒนาการ การเรียนรู้ การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กปฐมวัย การที่ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในชีวิตตั้งแต่เริ่มต้น การให้ความรู้ผู้ปกครองนับเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานทุกฝ่าย เพื่อดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ปกครอง หน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการให้ความรู้  แก่ผู้ปกครองคือ สถานศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง การอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ การจัดการศึกษาของสถานศึกษา บทบาทของผู้ปกครองกับการศึกษาของเด็กทั้งที่บ้านและสถานศึกษา โดยดำเนินการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองโดยเลือกรูปแบบวิธีการ   ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการศึกษาของผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครอง   รับประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ และชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้

คำถามท้ายบท
1. การจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบันการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างไร จงอธิบาย
➔  เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครอง มีความความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในชีวิตตั้งแต่เริ่มต้น 

2.  ในสถานศึกษาปฐมวัยสามารถดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้ผู้ปกครองในลักษณะหรือรูปแบบใดบ้าง จงอธิบาย และยกตัวอย่างของกิจกรรม
➔ 
1. การใช้บ้านเป็นฐานในการเรียนรู้ (home base) เป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับผู้ปกครองถึงที่บ้าน เช่น การเยี่ยมบ้าน การส่งจดหมาย เอกสารถึงบ้าน การจัดทำโฮมสคูล (Home School)
2. การใช้โรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ (school base) เป็นการจัดกิจกรรมความรู้ให้ผู้ปกครองที่โรงเรียน เช่น การจัดแสดงผลงานเด็ก การประชุม การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดมุมผู้ปกครอง
3. การใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ (community vase) เป็นการเผยแพร่ความรู้ผ่านชุมชน เช่น หมู่บ้าน วัด โบสถ์ มัสยิด วิทยุ โทรทัศน์ ระบบอินเตอร์เน็ต วารสาร นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมที่จัดโดยผ่านชุมชนประเภทต่างๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจที่สอดคล้องกับสภาพทางครอบครัว สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง นับเป็นแนวทางให้ความรู้ที่เหมาะสมกับผู้ปกครองในสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น

3. นักศึกษามีแนวคิดอย่างในการใช้บ้านเป็นฐานของการให้ความรู้ผู้ปกครอง
➔ การใช้บ้านเป็นฐานในการเรียนรู้ (home base) เป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับผู้ปกครองถึงที่บ้าน เช่น การเยี่ยมบ้าน การส่งจดหมาย เอกสารถึงบ้าน การจัดทำโฮมสคูล (Home School)
ในความคิดเห็นของดิฉัน เป็นแนวคิดที่ดีเพราะเราสามารถส่งเสริมพัฒนาการได้ถูก และสามารถส่งเสริมสิ่งที่เด็กชอบทำ ให้เขาทำอย่างเต็มที่อยากมีความสุข (เป็นการเรียนรู้อยากเต็มที่) แต่ข้อเสียคืออาจจะไม่เหมาะกับครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาต้องทำงาน 

4.  องค์ความรู้ที่จำเป็นในการให้ความรู้ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง
➔ 
1. กิจกรรมโรงเรียน ได้แก่ กิจกรรมที่เน้นให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม โดยทางโรงเรียนเป็นฐานในการจัดกิจกรรม เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแนะนำโรงเรียน กิจกรรมการฝึกอบรม กิจกรรมการแสดงของนักเรียน กิจกรรมอื่นๆ ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
2. กิจกรรมสานสัมพันธ์ เป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์และความคุ้นเคยกันในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสนทนา การเยี่ยมเยียน เช่น การประชุมปรึกษาเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน พร้อม ๆ กับการแลกเปลี่ยนความรู้กัน การแก้ปัญหาร่วมกัน 
การเยี่ยมบ้าน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียน การเยี่ยมบ้านจะไม่ทำบ่อยนัก อาจเป็นภาคเรียนละ 1 ครั้ง ตามความเหมาะสม
3. กิจกรรมการสื่อสารสนเทศ กิจกรรมนี้จะเน้นให้ผู้ปกครองเป็นผู้รับข้อมูลเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น โทรศัพท์สายด่วน จดหมายข่าว โฮมเพจ แผ่นพับของทางโรงเรียน
4. กิจกรรมการศึกษา เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียน การสอน เป็นกิจกรรมที่ผู้ปกครองเข้าถึงชั้นเรียน ทั้งเป็นผู้สอน เป็นผู้ช่วยครูตลอดถึงเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้ปกครองด้วยกัน
5. กิจกรรมบริการ เป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นเพื่อเป็นการบริการแก่สังคมและครอบครัว ได้แก่ ห้องสมุดของเล่น ศูนย์ดูและเด็ก ศูนย์แลกเปลี่ยนสิ่งของที่ผู้ปกครองเหลือใช้
6. กิจกรรมการตัดสินใจ เป็นกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองระดับสูง ที่ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนในการตัดสินใจ และวินิจฉัยสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม คือ การวางนโยบายโรงเรียน การสรรหาบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาการเรียนการสอน และการพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น

⏰ Assessment 

Self-Assessment : เข้าเรียนตรงเวลา มีการจดบันทึกเสมอ สนทนาตอบคำถามอาจารย์บ้าง
Member Assessment : เพื่อนในชั้นเรียนตั้งใจเรียน มีส่วนร่วมพูดคุยสนทนาคำถามกับอาจารย์
Teacher Assessment : เนื่องจากเนื้อหาเยอะ อาจารย์จึงสอน อธิบาย และสรุปได้ชัดเจน ทำให้เข้าใจง่ายกว่ามานั่งเรียนเนื้อหา




วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Learning Log 2

Learning Log 2

-Thursday 15th August 2019-

วันนี้อาจารย์ได้สอนในบทที่ 1
การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
โดยมีเนื้อหา ดังนี้ 

✨ การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย 

🔅 คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชา 🔅

🔹 Parentพ่อแม่  ผู้ปกครอง
🔹 Education ⇒ การศึกษา
🔹 Early Childhood ⇒ เด็กปฐมวัย
🔹 Parent Education for Early Childhood ⇒ การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
🔹 Is a good example of children ⇒ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
🔹 Attentiveness ⇒ ความใจใส่
🔹 Intimacy ⇒ ความใกล้ชิด
🔹 Family relationship ⇒ สายสัมพันธ์ในครอบครัว
🔹 Accept emotions and feelings of children ⇒ ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของลูก

การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย

     การพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์นั้นควรได้รับการดูแล ถ่ายทอดความคิด วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และค่านิยมที่ดีงามจากผู้ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์สมบูรณ์แบบ ควรเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ  อาจกล่าวได้ว่าบุคคลแรกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์คือ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง

ความหมายของผู้ปกครอง 

     ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ได้มีผู้ให้ความหมายของผู้ปกครองไว้ดังนี้
Summers Della,1998  กล่าวว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อหรือแม่ของบุคคล
 Encyclopedia,2000   อธิบายไว้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นพ่อหรือผู้ที่เป็นแม่ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. ผู้ปกครองโดยสายเลือด
2. ผู้ปกครองโดยสังคม
 กุลยา  ตันติผลาชีวะ (2542 : 3) กล่าวถึงผู้ปกครองว่า ผู้ปกครองมีความหมายกับเด็กมากกว่าเป็นผู้เลี้ยงดู โดยหน้าที่ของผู้ปกครองนั้นจะครอบคลุมถึงการอบรม สั่งสอนและพัฒนาเด็กด้วย ซึ่งได้จำแนกผู้ปกครองไว้ 5 ประเภท คือ
     1. ผู้ปกครองตามกฎหมาย พ่อ แม่ จัดเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ต้องเลี้ยงดูลูก จนโต บรรลุนิติภาวะ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ประกอบอาชีพได้ บางครั้งเราจะพบว่า ผู้ปกครองไทยให้การดูแลเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่จนถึงตายก็มี
     2. ผู้ปกครองโดยกฎหมาย หมายถึง ผู้ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย เพื่อเป็นผู้ปกครอง เช่น ผู้ที่ขอเด็กมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมมีความพร้อมและตั้งใจที่จะดูแลเด็กอย่างแท้จริง
     3. ผู้ปกครองอุปถัมภ์ เป็นผู้ปกครองชั่วคราวที่รับเลี้ยงดูด้วยความรู้สึกเมตตา สงสาร อยากช่วยเหลือ เช่น ผู้ปกครองในสถานสงเคราะห์ ลักษณะของความผูกพันเป็นแบบผิวเผิน สิ่งที่เด็กได้จากผู้ปกครองอุปถัมภ์คือกำลังใจ
     4. ผู้ปกครองทางชีวภาพ เป็นผู้ปกครองที่เกิดขึ้นในยุคของเทคโนโลยีการผสมพันธุ์ในหลอดแก้ว ผู้ปกครองประเภทนี้มี 2 ประเภท คือ แบบแรกเป็นเจ้าของยีนส์ อีกแบบเป็นแบบ   ฝากครรภ์ ทั้งสอบแบบมีความผูกพันทางพันธุกรรมสูง แต่การเลี้ยงดูอยู่กับผู้ทำหน้าที่ผู้ปกครอง ความสัมพันธ์กับเด็กมีลักษณะเช่นเดียวกับผู้ปกครองทั่วไป
     5. ผู้ปกครองโดยบังเอิญ พบได้ในกรณีเด็กหลง แล้วต้องรับเลี้ยง พ่อแม่เด็กตาย  เด็กถูกนำมาฝากเลี้ยง ความเกี่ยวข้องผูกพันระหว่างเด็กและผู้ปกครองน้อยมาก
 ราชบัณฑิตยสถาน. (2546 : 739) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครอง ดูแล หรือผู้ปกครองอาจหมายถึงพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา คนรู้จัก หรือคนที่ไม่รู้จักก็ได้ ถ้าคนที่กล่าวมานี้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตพื้นฐาน นำแนวทาง ช่วยเหลือและแนะแนวแก่เด็ก ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นผู้ปกครองจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด
 กัลยา  นิ่มจิตต์ (2545 : 26) กล่าวว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง รวมถึงผู้ที่รู้จักและไม่รู้จักที่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้ความรัก และความเอาใจใส่ ห่วงใยตลอดจนให้การศึกษาแก่เด็ก
💢 สรุปได้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นบิดา มารดา ญาติพี่น้องหรือบุคคลอื่นที่ให้การอบรมเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่เด็กที่อยู่ในการดูแลให้ความรักและความเอาใจใส่ห่วงใยตลอดจนให้การศึกษาแก่เด็ก 

ความสำคัญของผู้ปกครอง 

 Lee Center and Marlene Center,1992  ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดต่อชีวิตของเด็ก ความรักและความอบอุ่นจากผู้ปกครองเป็นความต้องการของเด็กทุกคน ผู้ปกครองจึงเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก
 Pestalozzi  ได้กล่าวถึง ความสำคัญของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่า ความรักของพ่อแม่เป็นพลังสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก ความรักที่ประกอบด้วยเหตุผลและความมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็กเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง ความรักที่บริสุทธิ์และความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกลมเกลียวกันในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเด็กในการพัฒนาความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตที่สมบูรณ์มั่นคงต่อไป 
 ฉันทนา  ภาคบงกช (2531)  กล่าวว่า ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่สำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดสามารถที่จะตองสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก ได้แก่ ความต้องการในการดำรงชีวิต ความต้องการความรักความอบอุ่น นอกจากนี้เด็กยังได้อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว เด็กจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูจากบ้านเป็นสำคัญ คุณภาพของเด็กมีผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก
 ศันสนีย์  ฉัตรคุปต์ (2543 : 1) กล่าวว่า ความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยนั้น พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ควรตระหนักถึงความสำคัญ และเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของเด็กในวัยนี้ให้เจริญเติบโต และพัฒนาเต็มตามศักยภาพ เพื่ออนาคตของเด็กและประเทศชาติต่อไป
💢 สรุปได้ว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งพ่อแม่มีความใกล้ชิดกับเด็ก เป็นผู้ที่มีความหมายต่อชีวิตเด็กทั้งการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจเป็นผู้ที่เด็กมอบความรักด้วยความบริสุทธิ์ใจ สังคมและสติปัญญา โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยถือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาบุคลิกภาพในอนาคต ผู้ปกครองจึงเป็นผู้นำที่จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่เหมาะสมเพื่อการก้าวสู่โลกกว้างได้อย่างมั่นคงและมีความพร้อมในทุกด้าน จึงถือว่าผู้ปกครองเป็นผู้เสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ความอบอุ่น อบรมเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ด้วยความรักความเข้าใจให้แก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัยเป็นรากฐานอนาคตของสังคมให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรง


      จากความสำคัญของผู้ปกครองดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ปกครองมีความสำคัญซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็ก เป็นผู้ที่มีความหมายต่อชีวิตเด็กทั้งการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจเป็นผู้ที่เด็กมอบความรักด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผู้ปกครองจึงเป็นผู้นำที่จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่เหมาะสม เพื่อการก้าวสู่โลกกว้างได้อย่างมั่นคงและมีความพร้อมในทุกด้าน จึงถือว่าผู้ปกครองเป็นผู้เสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้วยความรัก ความเข้าใจให้แก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัยเป็นรากฐานอนาคตของสังคมให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรง

บทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครอง 
      พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก เป็นผู้สนับสนุนและวางรากฐานอันสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของชีวิตมนุษย์  ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภาวะแห่งความรับผิดชอบในการอบรมเลี้ยงดูและสายใยแห่งความผูกพันระหว่างพ่อแม่ ลูก เป็นพันธะที่จะต้องมีการดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การให้เด็กได้เจริญเติบโตสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเอง สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่าง  มีความสุข
 Christine Ward, 1998  ได้กล่าวถึง บทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็กตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กไปโรงเรียน ผู้ปกครองก็จะต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กร่วมกับโรงเรียนในด้านการจัดการเรียนรู้ การปฏิบัติหน้าที่ดูแลเด็ก การจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับโรงเรียน
 วราภรณ์  รักวิจัย (2533 : 15) กล่าวว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดี ตามหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ปกครองที่ดี ซึ่งนอกจากจะให้การอบรมเลี้ยงดูแล้ว ต้องให้ทั้งความรัก ความเอาใจใส่ จัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาในทุก ๆ ด้านเพื่อเด็กจะเติบโตและสามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งบทบาทของผู้ปกครอง มีดังนี้
1. ให้การอบรมเลี้ยงดูและให้ปัจจัย 4
2. ให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ฝึกอบรมให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
4. ถ่ายทอดขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมตอดจนบทบาทหน้าที่ในครอบครัวให้แก่เด็ก
5. ช่วยแก้ปัญหาและอบรมสร้างวินัยอันดีให้แก่เด็ก
6. จัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาในทุกด้าน
7. เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก
8. ปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็ก
 อารี  สันหฉวี (2536) ได้เสนอบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในการฝึกเด็กให้ขยัน ฉลาด และเป็นคนดี
 กุลยา  ตันติผลาชีวะ (2542)  กล่าวว่า บทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของผู้ปกครองคือ ต้องตระหนักถึงธรรมชาติของเด็กที่มีความเฉพาะที่ต้องเข้าถึงเด็ก มีร่างกาย มีจิตใจ มีการพัฒนา มิใช้แต่ตัวเด็กเองแต่เป็นทั้งเพื่อครอบครัวและสังคม ดังนั้นหลักการเลี้ยงเด็กจึงมี 3 ประการ ดังนี้
1. หลักการทางจิตวิทยา
2. หลักการทางพัฒนาการ
3. หลักการทางวุฒิภาวะ
 กรมวิชาการ (2545)  ได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองไว้ดังนี้
1. เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
2. ให้ความรักและความเข้าใจ
3. เรียนรู้ร่วมกับเด็ก
4. ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของลูก
5. ไม่ปิดกั้นความรู้สึกของลูก
6. ฝึกให้ลูกรู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
7. ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

บทบาทและหน้าที่ด้านการอบรมเลี้ยงดู

บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็กมี 4 ประการ คือ
1. เลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโต โดยการตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจ 
2. อบรมระเบียบวินัยทางสังคม ตลอดจนกิริยามารยาทต่าง ๆ
3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กปฐมวัย ซึ่งได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา เพื่อให้มีความพร้อมทางด้านการเรียนต่อไป
4. ส่งเสริมความสนใจของเด็กโดยการจัดสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็กให้เหมาะสม เช่น หนังสือนิทาน อุปกรณ์ในการเล่น การพาไปทัศนศึกษา

บทบาทและหน้าที่ด้านการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้

       การศึกษา ทำความเข้าใจและแสวงหาประสบการณ์ว่าเด็กในแต่ละวันมีพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างไร พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้ลูกได้อย่างถูกวิธี ดังนี้
1.  ช่วยจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่โรงเรียน
2.  ส่งเสริมให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงให้มาก
3.  สนทนาให้ความเป็นกันเองกับเด็ก ป้อนคำถามให้เด็กได้คิดหาคำตอบ
4. ชมเชยเมื่อเด็กทำความดี ทำได้ถูกต้อง ในขณะที่ทำผิดก็ต้องชี้แจงให้เด็กเข้าใจให้ถูกต้องก่อนที่เด็กจะจำวิธีการผิดๆ ไปใช้
5.  ให้เด็กมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ช่วยเหลืองานในบ้านที่เหมาะสมกับวัย
6.  ให้อิสระแก่เด็กบ้างในบางโอกาส
7.  สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดปัญญา
8.  คอยติดตามการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก โดยไม่เข้มงวดกวดขันจนเกินไป
9.  ติดต่อกับครูของเด็กเพื่อรับทราบปัญหาและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินแก้

บทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา

     การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มนุษย์กับการศึกษาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอดชีวิต พ่อแม่ ผู้ปกครองถือเป็นบุคคลแรกที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กในแนวทางที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กดังนี้
1. ความอุทิศตน ในการมีเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่
2. มีจุดมุ่งหมายสูงส่งเพื่อลูก           
3. ช่างสังเกตถี่ถ้วน
4. ใช้สามัญสำนึกในการเลี้ยงลูก    
5. ปลูกฝังวินัย ความเป็นไทย

สรุปบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง 10  ประการ

1.  ให้ความรักและสายสัมพันธ์ในครอบครัว
2.  ให้ความเอาใจใส่และเอื้ออาทรต่อลูก
3.  ทำตนให้เป็นแบบที่ดีแก่ลูก
4.  ให้ประสบการณ์การเรียนรู้ในสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติตน
5.  ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้เป็นไปตามวัย
6.  ให้หลักธรรมในการพัฒนาเด็กด้วยหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา)
7.  ส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
8.  ศึกษาการเจริญเติบโตของเด็ก
9.  เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ
10. สนับสนุนเตรียมความพร้อมก่อนสู่สังคม

บทสรุป

     ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นซึ่งทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา สามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข บทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เป็นผู้ปกครองเด็กปฐมวัยถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างรากฐานของชีวิตในอนาคตกับเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ และการส่งเสริมการศึกษา การที่ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาเด็ก ย่อมเป็นการทำให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องแสวงหาองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อนำมาปฏิบัติใช้ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กในด้านต่างๆ 

คำถามท้ายบท
1. ในสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักศึกษาคิดว่าบทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองที่มีต่อเด็กปฐมวัยมีอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
➔  การที่ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาเด็ก ย่อมเป็นการทำให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องแสวงหาองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อนำมาปฏิบัติใช้ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กในด้านต่างๆ 
1.  ให้ความรักและสายสัมพันธ์ในครอบครัว
2.  ให้ความเอาใจใส่และเอื้ออาทรต่อลูก
3.  ทำตนให้เป็นแบบที่ดีแก่ลูก
4.  ให้ประสบการณ์การเรียนรู้ในสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติตน
5.  ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้เป็นไปตามวัย
6.  ให้หลักธรรมในการพัฒนาเด็กด้วยหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา)
7.  ส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
8.  ศึกษาการเจริญเติบโตของเด็ก
9.  เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ
10. สนับสนุนเตรียมความพร้อมก่อนสู่สังคม

2. จงอธิบายวิธี แนวทางที่ผู้ปกครองสามารถใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญาให้แก่เด็กปฐมวัย
มี 9 วิธี ได้แก่ 
1.  ช่วยจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่โรงเรียน
2.  ส่งเสริมให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงให้มาก
3.  สนทนาให้ความเป็นกันเองกับเด็ก ป้อนคำถามให้เด็กได้คิดหาคำตอบ
4. ชมเชยเมื่อเด็กทำความดี ทำได้ถูกต้อง ในขณะที่ทำผิดก็ต้องชี้แจงให้เด็กเข้าใจให้ถูกต้องก่อนที่เด็กจะจำวิธีการผิดๆ ไปใช้
5.  ให้เด็กมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ช่วยเหลืองานในบ้านที่เหมาะสมกับวัย
6.  ให้อิสระแก่เด็กบ้างในบางโอกาส
7.  สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดปัญญา
8.  คอยติดตามการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก โดยไม่เข้มงวดกวดขันจนเกินไป
9.  ติดต่อกับครูของเด็กเพื่อรับทราบปัญหาและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินแก้

3. การฝึกให้เด็กเป็นคนดี คนขยันและฉลาด ผู้ปกครองควรปฏิบัติอย่างไร
เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก และส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้ง 4 ด้านให้ครบถ้วน

4. ปัญหาที่เป็นอุปสรรค์ของผู้ปกครองที่มีผลกระทบต่อเด็กปฐมวัย คือปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องใด จงอธิบาย
ผู้ปกครองขาดความพร้อม ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆเกี่ยวกับตัวเด็ก อาทิเช่น พัฒนาการต่างๆของเด็ก ขาดความรู้ด้านวิธีการที่จะส่งเสริมเด็ก 
⏰ Assessment 

Self-Assessment : เข้าเรียนตรงเวลา มีการจดบันทึก และเล่นกับเพื่อนบ้างเล็กน้อย
Member Assessment : เพื่อนในชั้นเรียนตั้งใจเรียน มีส่วนร่วมตอบคำถามกับอาจารย์
Teacher Assessment : อาจารย์สอนและอธิบายได้ชัดเจน เข้าใจง่าย


Learning Log 1

Learning Log 1

-Thursday 8th August 2019-

- วันนี้เป็นคาบแรกของการเรียนการสอน
ดิฉันหยุดเรียนเนื่องจากป่วยค่ะ -